วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

จิ้งหรีด (Cricket)

เป็นแมลงจำพวกหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Gryllidae ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นวงศ์ย่อยต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง (ดูในตาราง)

จิ้งหรีดถือเป็นแมลงที่มีขนาดลำตัวปานกลางเมื่อเทียบกับแมลงโดยทั่วไป มีปีก 2 คู่ คู่หน้าเนื้อปีกหนากว่าคู่หลัง ปีกเมื่อพับจะหักเป็นมุมที่ด้านข้างของลำตัว ปีกคู่หลังบางพับได้แบบพัดสอดเข้าไปอยู่ใต้ปีกคู่หน้า ปากเป็นชนิดกัดกิน หัวกับอกมีขนาดกว้างไล่เลี่ยกัน ขาคู่หลังใหญ่และแข็
งแรงใช้สำหรับกระโดด ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียงเป็นฟันเล็ก ๆ อยู่ตามเส้นปีกบริเวณกลางปีก ใช้กรีดกับแผ่นทำเสียงที่อยู่บริเวณท้องปีกของปีกอีกข้างหนึ่ง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันดีของจิ้งหรีด ขณะที่ตัวเมียจะไม่สามารถทำเสียงดังนั้นได้ และจะมีอวัยวะสำหรับใช้วางไข่เป็นท่อยาว ๆ บริเวณก้นคล้ายเข็ม เห็นได้ชัดเจน

จิ้งหรีดสามารถพบได้ในทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น พบแล้วประมาณ 900 ชนิด ในประเทศไทยก็พบได้หลายชนิด จิ้งหรีดเป็นแมลงที่กัดกินพืชชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร สามารถกินได้หลายชนิด มักออกหากินในเวลากลางคืน มักจะอาศัยโดยการขุดรูอยู่ในดินหรือทราย ในที่ ๆ เป็นพุ่มหญ้า แต่ก็มีจิ้งหรีดบางจำพวกเหมือนกันที่อาศัยบนต้นไม้เป็นหลัก

สำหรับในประเทศไทย พบจิ้งหรีดได้ทั่วทุกภูมิภาค ชนิดของจิ้งหรีดที่พบ ได้แก่ จิ้งหรีดทองดำ (Gryllus bimaculatus), จิ้งหรีดทองแดง (G. testaceus), จิ้งโกร่ง หรือ จิ้งกุ่ง (Brachytrupes portentosus) เป็นต้น

จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตแบบไม่ต้องผ่านการเป็นหนอนหรือดักแด้ ตัวอ่อนที่เกิดมาจะเหมือนตัวเต็มวัย เพียงแต่ยังไม่มีปีก และมีสีที่อ่อนกว่า ต้องผ่านการลอกคราบเสียก่อน จึงจะมีปีกและทำเสียงได้

ด้วงกว่าง

ลักษณะ
ด้วงกว่างมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากแมลงปีกแข็งจำพวกอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ ตัวผู้มีขนาดที่ใหญ่ แลดูบึกบึน มีปีกที่พัฒนาเป็นเปลือกแข็ง 1 คู่หุ้มลำตัวด้านบนที่นูนอยู่เหมือนสวมชุดเกราะ มีสีดำคล้ำหรือน้ำตาลเข้มที่เงางาม ขณะที่บางชนิดอาจมีสีอ่อนกว่าหรือแม้กระทั่งสีทองก็มี มีจุดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ มีอวัยวะบริเวณส่วนหัวที่งอกยาวออกมาคล้ายเขาจำนวนอย่างน้อย 1 คู่ อยู่ด้านบนและด้านล่างของส่วนหัว ซึ่งจะมีจำนวนและลักษณะสั้น-ยาวแตกต่างกันออกไปตามสกุลและชนิด ซึ่งพบมากที่สุดได้ถึง 5 เขา ขณะที่ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าและไม่มีเขา หรือมีแต่สั้นกว่ามาก มีผิวลำตัวที่ขรุขระหยาบและมีขีดร่องหรือเรียบกว่า จุดแทง ที่ส่วนปีกแข็งมาก ตามลำตัวในบางชนิดมีขนอ่อนคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองหรือสีน้ำตาลปกคลุมอยู่บริเวณใต้ท้องทั้งตัวผู้และตัวเมีย ขาคู่หน้ามีช่องที่อยู่ในแนวขวางสามารถบิดขยับได้ มีหนวดเป็นรูปใบไม้

ด้วงกว่างจะใช้เขานี้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมียในการผสมพันธุ์ ซึ่งอาจจะต่อสู้กันข้ามสายพันธุ์หรือแม้แต่ต่างวงศ์กันได้ เช่น วงศ์ด้วงคีม (Lucanidae) ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน โดยจะใช้เขาอันนี้ขวิดและหนีบหรือแม้กระทั่งยกคู่ต่อสู้ให้ลอยพ้นพื้นได้ ซึ่งการต่อสู้ของด้วงกว่างนั้นไม่ดุเดือดจนถึงขั้นบาดเจ็บหรือล้มตายกันไปข้างเหมือนสัตว์ชนิดอื่น อย่าง ปลากัดหรือไก่ชน แต่อาจจะทำให้เขาหักกันได้

วงจรชีวิต
ด้วงกว่างทั้งหมดมีวงจรชีวิตที่คล้ายกัน คือ จะวางไข่และตัวอ่อน คือ ตัวหนอนและดักแด้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารทางระบบนิเวศ เช่น มีไม้ผุหรือมูลสัตว์ผสมอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมากพอ ตัวหนอนของด้วงกว่างจะมีขนาดใหญ่และป้อมสั้นกว่าแมลงจำพวกอื่น มักมีลำตัวสีขาวหรือเหลืองอ่อนจะขดตัวเป็นรูปตัวซี (C) และจะมีความแตกต่างจากตัวหนอนของแมลงจำพวกอื่น คือ มีส่วนหัวขนาดใหญ่ที่มีสีเข้มกว่าลำตัวเรียกว่าหัวกะโหลก มีกรามหรือมีเขี้ยว และจะมีรูหายใจที่ข้างลำตัวโดยมีปล้องทั้งหมด 8 ปล้อง ปล้องละคู่ และจะมีขาจริงหลังส่วนหัวด้วยรวม 3 คู่ โดยปกติแล้วจะกินอาหารและอยู่เฉย ๆ ในดินเท่านั้นจะไม่เคลื่อนไหวเท่าใดนัก จึงมีลำตัวที่ใหญ่ ตัวหนอนจะกินธาตุอาหารต่าง ๆ ในดิน

ขณะเข้าสู่ระยะดักแด้ จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยผุดขึ้นมาจากดิน กินระยะเวลานานราว 1 ปี ขณะที่บางชนิดอาจนานกว่านั้น คือ 2-3 ปี ขณะที่ช่วงระยะเวลาของการเป็นตัวเต็มวัยจะมีอายุเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น แต่บางชนิดอาจอยู่ได้นานถึง 6 เดือนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ด้วงกว่างจึงจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่อุดมเท่านั้น โดยปกติแล้วจะพบชุกชุมในช่วงฤดูฝน อันเป็นช่วงที่ตัวเต็มวัยจะผุดขึ้นมาดินและผสมพันธุ์ เมื่อตัวเต็มวัยปริตัวออกจากเปลือกที่เป็นดักแด้จะเริ่มปริจากส่วนหัวก่อน และจะรูดตัวออกจากทางส่วนปลายท้องคล้ายกับผีเสื้อ แต่การออกมาของด้วงกว่างนั้นมักวางอยู่พื้นดินเพื่อให้ขยับตัวหรือพลิกตัวคล่ำลงได้ง่ายเพื่อให้ส่วนปีกยืดกางได้เป็นอิสระ ขณะที่ออกมาระยะแรกตัวจะยังขาวซีด ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานเป็นวันเพื่อพัฒนาสีและความแข็งของเปลือกลำตัวให้สมบูรณ์ ขณะที่บางชนิดอาจจะอยู่ในเปลือกดักแด้อีกระยะหนึ่ง จึงค่อยผุดขึ้นมา[3][pai]

แมลงปอ (Dragonfly)

แมลงปอ คือแมลงที่มีตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่บนบกมีปีกบินได้ แมลงปอมีการเจริญเติบโตแบบเป็นขั้นตอนประเภทไม่สมบูรณ์แบบ คือ มีระยะไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ไม่มีระยะดักแด้ โดยระยะไข่และตัวอ่อนมีชีวิตอยู่ในน้ำ ตัวอ่อนที่อยู่ในน้ำมีรูปร่างแตกต่างจากตัวเต็มวัยมาก เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะลอกคราบครั้งสุดท้าย กลายเป็นตัวเต็มวัยที่มีปีกและจะใช้ชีวิตบนบกได้ต่อไป

วงจรชีวิต
ตัวอ่อนแมลงปอ ที่เรียกว่า "ตัวโม่ง" อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป ลักษณะแตกต่างจากแมลงปอตัวเต็มวัย เพราะแมลงปอตัวเมียวางไข่ในน้ำ หรือตามพืชน้ำ ตั้งแต่ 500-หลายพันฟอง ตามแต่ละชนิด ตัวอ่อนแมลงปอจะลอกคราบประมาณ 10-15 ครั้ง จึงเป็นตัวเต็มวัย กินตัวอ่อนของแมลงน้ำและลูกอ๊อดเป็นอาหาร บางครั้งก็กินพวกเดียวกันเอง รวมทั้งปลาขนาดเล็ก ด้วยขากรรไกรขนาดใหญ่ที่ยื่นออกมาพุ่งจับเหยื่อได้ด้วยเวลาเพียง 20 มิลลิวินาที เมื่อจับเหยื่อได้แล้วจะจีบฉีกเป็นชิ้น ๆ และกินทั้งเป็น ตัวอ่อนแมลงปอหายใจด้วยอวัยวะที่คล้ายกับปอดที่อยู่บริเวณหาง ตัวอ่อนแมลงปอเคลื่อนใหวโดยการใช้ขาพายน้ำและการพ้นน้ำออกจากก้นเหมือนไอพ่นเพื่อให้เองตัวพุ่งไปข้างหน้า ตัวอ่อนแมลงปอใช้ชีวิตนานอยู่ในน้ำนานไม่เท่ากัน แตกต่างกันตามแต่ชนิด บางชนิดใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่บางชนิดใช้เวลานานหลายปี จากนั้นจะไต่ตามต้นพืชจากน้ำมาลอกคราบและผึ่งปีกเพื่อจะกลายเป็นตัวเต็มวัย ด้วยแรงดันในร่างกาย ซึ่งระยะเวลาในการลอกคราบใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อก่อนจะบิน แมลงปอจะสั่นตัวเพื่อสูบฉีดเลือดเข้าสู่ปีก เพื่อเตรียมพร้อมที่จะบินเป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะที่เปลือกลำตัวเก่าก็จะถูกทิ้งไว้กับต้นพืช แมลงปอมักผึ่งปีกในเวลากลางคืน รุ่งขึ้นเมื่อปีกแห้งก็สามารถบินได้

แมลงปอ เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเกาะบริเวณทางด้านหลังหัวของตัวเมีย ขณะที่ตัวเมียก็จะม้วนตัวไปข้างหน้า เพื่อรองรับสเปิร์มจากถุงสเปิร์มตัวผู้ ในบางชนิดการผสมพันธุ์จะทำพร้อมไปกับการวางไข่ของตัวเมียด้วย บางชนิดการเกาะเกี่ยวของตัวผู้อาจใช้เวลานานหลายวินาที จนนานนับเป็นชั่วโมง และการวางไข่ของแมลงปอ ในบางชนิดวางไข่ไว้บนผิวน้ำ บางชนิดวางไข่ซ่อนไว้ในซอกหินหรือมอส บางชนิดตัวเมียอาจต้องดำน้ำลงไปจัดวางไข่ให้เรียบร้อย ซึ่งแมลงปอตัวเต็มวัยสามารถดำน้ำได้นาน 90 นาที แต่ในบางชนิด เช่น แมลงปอเข็ม วางไข่ไว้ใต้เปลือกไม้ริมน้ำก็มี แต่เมื่อตัวอ่อนฟักออกมา ก็จะตกลงสู่แหล่งน้ำและใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเหมือนตัวอ่อนแมลงปอทั่วไป แมลงปอส่วนใหญ่มีพฤติกรรมผสมพันธุ์และวางไข่พร้อมกัน แต่ก็บางชนิดที่วางไข่เพียงลำพัง[1][2]

ศัตรูตามธรรมชาติของแมลงปอ ได้แก่ แมลงและแมงที่กินแมลงเป็นอาหาร เช่น ตั๊กแตนตำข้าว, แมงมุม รวมถึงพืชกินแมลงบางจำพวก เช่น หยาดน้ำค้าง และสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กบ หรือกระทั่งเป็ด เมื่อแมลงปอตกลงไปในน้ำลึกแล้ว แทบจะเอาชีวิตรอดกลับมาไม่ได้เลย แต่ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของแมลงปอ คือ สภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งแมลงปอหลายตัวจะตายลง และกลายเป็นอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ในช่วงฤดูนี้

ต่อหัวเสือ (Paper wasp)



            เป็นแมลงที่อยู่ในอันดับ Hymenoptera  ต่อเป็นแมลงที่มีพิษจัดเป็นสัตว์ประเภท Omnivorous คือ เป็นแมลงที่กินสัตว์ เช่น ตัวอ่อนแมลงอื่น ซากสัตว์ เป็นอาหาร และยังจัดเป็นแมลงตัวห้ำ (Predator) อีกทั้งเป็นแมลงที่ดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ต่อหัวเสือมีหลายชนิด ทั้งชนิดที่อยู่ลำพัง หรืออยู่เป็นรวมกันเป็นแมลงสังคม (Social wasp) ส่วนต่อที่สร้างรังขนาดใหญ่มีหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงกลมใหญ่ มักอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต่อหัวเสือ ต่อรัง ต่อขวด และต่อหลวง ต่อเป็นแมลงพบได้ทุกภาคของประเทศไทย ในประเทศไทย พบ 18 ชนิด

ต่อ ชนิดที่อยู่รวมกันเป็นแมลงสังคม มีการแบ่งวรรณะ ประกอบด้วยเพศผู้ ซึ่งต่อราชินีและต่องาน เป็นเพศเมีย  นักวิทยาศาสตร์พบว่า  ไข่ที่ได้รับการผสมจะเจริญเติบโตเป็นเพศเมีย ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมเจริญเติบโตเป็นเพศผู้

ต่องาน มีหน้าที่หาอาหาร ป้องกันรัง ดูแลราชินี และตัวอ่อนภายในรัง

ต่อราชินีเป็นเพศเมียที่สามารถสืบพันธุ์ได้ ในรังต่อจะมีต่อราชินีที่เป็นแม่ 1 ตัว  จะพบต่อราชินีที่เป็นลูกอีกหลายตัว ส่วนใหญ่แล้วจะพบในช่วงฤดูกาลการผสมพันธุ์เพื่อสร้างรังใหม่

การป้องกันรังของ “ต่อหัวเสือ” พวกมันจะต่อยพร้อมกับการฉีดพิษ ต่อตัวที่ต่อยได้ ทุกตัวเป็นต่อเพศเมียเท่านั้นเพราะมีเหล็กใน ที่ถูกพัฒนามาจากอวัยวะในการวางไข่ การต่อยนอกจากเป็นการป้องกันตัว ป้องกันรังแล้วต่อบางชนิดยังสามารถใช้ในการล่าเหยื่อโดยการต่อยให้เหยื่อสลบก่อนจะคาบเหยื่อไปกินเป็นอาหารที่รังต่อไป

วงจรชีวิต

                การเจริญเติบโตของ ต่อ ตั้งแต่ตัวอ่อนซึ่งเป็นมีสภาพเป็นตัวหนอน (larva) ฟักออกมาจากไข่ ต้องผ่านระยะตัวหนอน หลายระยะ โดยตัวหนอนมีปากเป็นแบบกัด หนอนในระยะ สุดท้ายจะเริ่ม หยุดกินอาหารและเคลื่อนไหวน้อยลงเรียกหนอนในระยะนี้ว่า ระยะเตรียมเข้าดักแด้ (prepupa or pharate pupa)   จากนั้นจะเข้าดักแด้ (pupation) จนเป็นตัวเต็มวัยมีปีกบินได้นั้น จัดอยู่ในประเภทการลอกคราบ หรือการถอดรูปสมบูรณ์แบบ (holometabolous or complete metamorphosis)  การถอดรูปในลักษณะนี้มักพบได้ในกลุ่มแมลงที่มีวิวัฒนาการสูงวงจรชีวิตมีการพัฒนาการในระยะต่างๆ ที่สำคัญรวม 4 ระยะ คือ ระยะไข่  ระยะตัวอ่อน หรือ หนอน    ระยะดักแด้    ระยะตัวเต็มวัย

แตน (Hornet)

แตน    จัดเป็นแมลงจำพวกผึ้ง เพราะว่ามีเหล็กในและการดำรงชีวิตที่คล้ายคลึงกัน แตนเป็นแมลงเอวคอด ปีกบางสองคู่ แตนมีหลายชนิดสร้างรังรูปแบบแปลกๆ สวยงาม แตนบัว หรือแตนฝักบัวสร้างรังคล้ายกับฝักบัวคว่ำ รังนี้ยึดติดแน่นกับกิ่งไม้ ด้านล่างของรังที่หันลงดินแบ่งเป็นช่องสำหรับเป็นที่อยู่ของตัวอ่อน และเป็นทางเข้าออก แตนสร้างรังโดยการเคี้ยวไม้เก่าๆ ผสมกับน้ำลายซึ่งจะแปรสภาพเป็นเยื่อไม้แล้วเอาไปเรียงต่อกันเป็นห้องจนกลายเป็นรัง

ภายหลังผสมพันธุ์เสร็จ เมื่อแม่แตนสร้างรังหรือห้องได้บ้างแล้ว มันจะไปหาอาหารมาทิ้งไว้ให้ลูกอ่อนกิน อาหารตัวอ่อนชอบกิน คือตัวหนอนผีเสื้อ ซึ่งแม่แตนจะต่อยให้สลบแล้วนำมาใส่ไว้ในช่องที่เตรียมไว้เมื่อไข่ฟักเป็นตัวก็จะมีอาหารกิน แมลงจำพวกเดียวกันกับแตนมีหลายชนิด เช่น ต่อ ต่อหมาร่า รูปร่างคล้ายกัน แต่สีแตกต่างกันไป สีเหลือง ดำสลับเหลือง รังอาจเป็นรูปกลมรี รูปกระปุกหรือแบบลูกฟูก แตนบางชนิดทำรังด้วยดิน เช่น หมาร่า

ต่อ(Wasp)

ต่อ คือแมลงสังคมซึ่งมีนางพญาเป็นจุดศูนย์กลางชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Vespidae มันถูกจัดให้เป็นแมลงประเภทที่ทั้งกินเนื้อและพืชเป็นอาหาร ต่อในโลกนี้มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์มนุษย์สามารถนำตัวอ่อนของต่อมาทำอาหารได้ต่อทำรังด้วยเศษใบไม้กับน้ำลาย ลักษณะกลมและรี ขนาดของรังจะขึ้นอยู่กับเวลา และจำนวนประชากรต่อ

เป็นตัวต่อนางพญา
เป็นตัวต่อธรรมดา

ยุงลาย (Aedes)

เป็นสกุลของยุงที่เดิมพบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน แต่ปัจจุบันพบได้ทุกทวีปยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา
กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุทำให้ยุงลายบางสปีชีส์แพร่กระจาย Meigen อธิบายและตั้งชื่อเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1818 ยุงในสกุลนี้มีกว่า 700 สปีชีส์ ยุงลายบางสปีชีส์ส่งผ่านโรคร้ายแรง รวมถึงไข้เด็งกีและไข้เหลือง


บทบาทในการก่อโรค
ยุงลายเป็นพาหะที่ทราบของโรคติดเชื้อไวรัสหลายชนิด สองสปีชีส์ที่โดดเด่นที่สุดที่ส่งผ่านไวรัส คือ Aedes aegypti และ Aedes albopictus ซึ่งส่งผ่านไวรัสที่ก่อโรคไข้เด็งกี ไข้เหลือง ไข้ไนล์ตะวันตก ชิคุนกุนยา และสมองอักเสบม้าตะวันออก เป็นต้น การติดเชื้อไวรัสเหล่านี้มักมีอาการไข้ และสมองอักเสบในบางกรณีซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เหลือง และมาตรการเพื่อป้องกันยุงกัดรวมถึง ยาฆ่าแมลง เครื่องดักยุง สารขับไล่แมลงและมุ้ง